LINE ID : @999developments

จองการนัดหมาย

อยากให้สามีต่างชาติมีชื่อในทะเบียนบ้าน ต้องเตรียมอะไรบ้าง

999 Developments Chiang Mai

…because every detail matters

เมื่อคุณแต่งงานกับชาวต่างชาติ และตัดสินใจลงหลักปักฐานกันอยู่ในเมืองไทย หลายๆ คนอาจจะกังวลใจว่า จะสามารถนำชื่อคู่สมรสมาไว้ในทะเบียนบ้านได้หรือไม่? มีการเตรียมเอกสารและมีขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูกันทีละขั้นตอนค่ะ

คุณสมบัติของชาวต่างชาติที่สามารถมีชื่อในทะเบียนบ้านประเทศไทย

สำหรับตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรนั้น นายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นจะจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือชาวต่างชาติจะต้องมีคุณสมบัติในการผ่อนผันดังนี้

1. ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรสกับบุคคลที่มีสัญชาติไทย

กรณีที่ชาวต่างชาติจดทะเบียนสมรสเป็นสามี หรือภรรยากับบุคคลที่มีสัญชาติไทย จะต้องให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อสำนักทะเบียนตามภูมิลำเนาที่บ้านตั้งอยู่ โดยกรอกคำร้องเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร ขอเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนบ้าน

 

2.ชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นของตนเอง

ตามกฎหมายของไทยได้จำกัดให้ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของห้องชุดได้ไม่เกิน 49% ของห้องชุดทั้งหมดในอาคาร หรือสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายผ่านการโอนกรรมสิทธิ์จากกรมที่ดิน และสามารถดำเนินการขอทะเบียนบ้าน(ท.ร.13 สีเหลือง)ได้

 

3.ชาวต่างชาติที่ได้บัตรประชาชน

ในกรณีที่ชาวต่างชาติได้บัตรประชาชนจะต้องอาศัยอยู่ในประเทศไม่น้อยกว่า 5 ปี และจะต้องทำเรื่องขอเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย โดยผ่านกระบวนการ ขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ

 

ทะเบียนในประเทศไทยมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ทะเบียนบ้านเป็นเอกสารที่ระบุบุคคลใดที่เป็นเจ้าบ้าน และบุคคลที่เป็นผู้อาศัยในบ้าน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการทะเบียน โดยคำร้องที่จะขอมีทะเบียนบ้านสามารถจดทะเบียนได้ที่สำนักทะเบียน อำเภอ หรือเขต โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงแต่จะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการแตกต่างกันในแต่ละท้องที่นั่นเอง

 

1. ทะเบียนบ้าน แบบ ท.ร.14 (เล่มสีน้ำเงิน) สำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย

สำหรับทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.14 หรือทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงิน เป็นเอกสารสำคัญสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยมี “เจ้าบ้าน” ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ดูแลบ้าน และถ้ามีเหตุการณ์ใด ๆ กับผู้อาศัย เจ้าบ้าน จะมีหน้าที่แจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน ยกเว้นกรณีมีผู้เสียชีวิตจะต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงินนี้จากกรณีสมรสกับชาวไทยจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าบ้านเสียก่อน และจะต้องใช้หลักฐานเอกสารที่สำคัญในการยื่นขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านดังนี้

หลักฐานเอกสารที่สำคัญในการยื่นขอมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

  • ทะเบียนสมรส ชาวต่างชาติจะต้องแสดงหลักฐานทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งออกโดยหน่วยงานไทย สถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศตนเอง โดยในหลักฐานนี้จะต้องแปลเป็นภาษาไทย และมีการรับรอง
  • หนังสือเดินทาง และวีซ่า คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติจะต้องแสดงหนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ และวีซ่าที่อนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ระยะยาว หรือวีซ่าแต่งงานที่ออกให้เฉพาะสำหรับคู่สมรสของคนไทย

 

  • บัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสสัญชาติไทย และทะเบียนบ้าน สำหรับคู่สมรสสัญชาติไทยจะต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และทะเบียนบ้านไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • หลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน คู่สมรสทั้งสองจะต้องแสดงหลักฐานที่อยู่อาศัยในปัจจุบันของตนแก่นายทะเบียน เช่น ใบเสร็จค่าสาธารณูปโภค หรือสัญญาเช่าที่พักอาศัย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าทั้งคู่อาศัยอยู่ด้วยกันเป็นสามีภรรยาจริงตามที่ระบุไว้

  • ภาพถ่ายหนังสือเดินทาง เป็นรูปถ่ายขนาดหนังสือเดินทางล่าสุดของคู่สมรสชาวต่างชาติ และคู่สมรสชาวไทย
  • หนังสือรับรองการสนับสนุน นายทะเบียนท้องที่บางแห่งอาจจะขอหนังสือรับรอง หรือจดหมายจากคู่สมรสชาวไทย เพื่อยืนยันความตั้งใจที่จะสนับสนุนคู่สมรสชาวต่างชาติในระหว่างที่พวกเขายังอยู่ในประเทศไทย
  • พยานบุคคล จำเป็นจะต้องมีสักขีพยานที่สามารถยืนยันความถูกต้องของการแต่งงาน และการอยู่ร่วมกันของทั้งคู่ ทั้งคุณสมบัติของพยานจะมีข้อแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น
  • แบบฟอร์มใบสมัคร คู่สมรสทั้งสองจะต้องกรอกแบบฟอร์มใบสมัครเฉพาะที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานทะเบียนของแต่ละเขต หรือท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ โดยกรอกให้ละเอียดครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นความจริง
  • ค่าธรรมเนียมการดำเนินการ ค่าธรรมเนียมการดำเนินจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเขตพื้นที่ที่อาศัยอยู่

ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารหลักฐาน และรายละเอียดที่กรอกลงในแบบฟอร์มถูกต้องครบถ้วนอาจขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หรือตัวแทนทางกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายครอบครัวในประเทศไทย เมื่อรวบรวมเอกสารสำคัญทั้งหมด และส่งไปยังหน่วยงานทะเบียนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ รอการดำเนินการจนเสร็จสิ้น คุณและคู่สมรสก็จะมีชื่อในทะเบียนบ้านของไทยพร้อมสิทธิ์ประโยชน์ต่าง ๆที่ควรจะได้รับจากไทยนั่นเอง

2. ทะเบียนบ้าน แบบ ท.ร.13 (เล่มสีเหลือง) สำหรับชาวชาวต่างชาติ

สำหรับทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13 หรือทะเบียนบ้านเล่มสีเหลืองนี้จะใช้กับชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยแบบถูกต้องตามกฎหมาย มีหนังสือเดินทางเข้าประเทศไทย พร้อมทั้งพำนักในประเทศระยะยาวที่ไม่หมดอายุ ไม่ใช่วีซ่านักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เข้ามาประทับตรายกเว้น ซึ่งแต่ละอำเภอ หรือแต่ละเขตจะมีกฎในการจดทะเบียนที่แตกต่างกันทั้งนี้จะต้องศึกษาข้อมูลในพื้นที่เสียก่อน อย่างไรก็ตามหากชาวต่างชาติมีชื่อในทะเบียนบ้านของไทยจะได้รับสิทธิในการทำนิติกรรมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นใบขับขี่ เอกสารสัญญาต่าง ๆ ยื่นขอสัญชาติไทย ธุรกรรมทางการเงิน ได้สิทธิ์ทำบัตรประชาชนชาวต่างชาติได้ง่าย หรือได้ทำบัตรประชาชนพร้อมทั้งใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งได้อีกด้วย

ซึ่งชาวต่างชาติที่ประสงค์อยากมีทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13 หรือทะเบียนบ้านเล่มสีเหลืองนี้จะต้องใช้เอกสารหลักฐานที่สำคัญดังนี้

 

เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13

เมื่อรู้จักกับทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.13 แล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่าจะต้องเตรียมเอกสารที่สำคัญอะไรบ้าง พร้อมทั้งขั้นตอนการยื่นเอกสาร ระยะเวลา และค่าธรรมเนียมในการจัดการ ทั้งนี้เมื่อคุณดำเนินการสำเร็จเรียบร้อยแล้วจะได้รับสิทธิ์ และผลประโยชน์บางประการที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติไทย และถิ่นที่อยู่ โดยใช้เอกสารหลักฐานสำคัญในการยื่นขอดังต่อไปนี้

  • พาสปอร์ต พาสปอร์ตที่ใช้จะต้องเป็นตัวจริงทั้งชื่อ นามสกุลของคู่สมรสชาวต่างชาติ พร้อมทั้งสำเนา
  • หนังสือแจ้งที่พักอาศัยในปัจจุบัน โดยหนังสือนี้จะแจ้งที่พักอาศัยที่เป็นปัจจุบันของคู่สมรสชาวต่างชาติ ซึ่งออกให้โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
  • ทะเบียนสมรส ทะเบียนสมรสจะต้องเป็นตัวจริงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ออกโดยหน่วยงานไทย สถานทูต หรือสถานกงสุล
  • ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการ สำหรับค่าธรรมเนียมในการดำเนินการในแต่ละท้องที่ หรือแต่ละเขตจะมีค่าดำเนินการแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้จะต้องศึกษา หรือสอบถามนายทะเบียนในพื้นที่นั้น ๆ และเตรียมค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วน

 

กรณีที่ชาวต่างชาติซื้ออสังริมทรัพย์ และมีชื่อตนเองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะต้องแสดงเอกสารหลักฐานดังนี้

  • หนังสือเดินทางฉบับจริง
  • สำเนาหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองจากสถานทูต พร้อมทั้งแปลเป็นภาษาไทย และรับรองโดยกงสุลไทย
  • หากคุณเป็นนักธุรกิจ หรือทำงานในประเทศไทยจะต้องมีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยแนบมาด้วย
  • ทะเบียนบ้านแบบ ท.ร.14 ฉบับภาษาไทย
  • หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด พร้อมทั้งหนังสือสัญญาซื้อขาย อช.23
  • รูปถ่ายปัจจุบันขนาด 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป
  • พยานบุคคลที่รู้จัก พร้อมทั้งบัตรประชาชนตัวจริง อย่างน้อย 2 คน
  • รูปถ่ายหน้าบ้านของจริงที่เห็นหมายเลขที่บ้าน ในห้อง หรือในบ้านที่พักอาศัยแบบชัดเจน
  • เอกสารอื่น ๆ เช่น ใบขับขี่, วุฒิการศึกษา และกรีนการ์ด เป็นต้น

ทั้งนี้จะต้องยื่นเอกสารทั้งหมดให้กับสำนักงานเขต หรืออำเภอในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ให้ทำการตรวจสอบ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนตรวจสอบพร้อมทั้งแจ้งวันนัดสัมภาษณ์ โดยการสัมภาษณ์ทั้งหมดจะสัมภาษณ์เป็นภาษาไทย ถ้าคู่สมรสชาวต่างชาติไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้นั้นจะต้องนำล่ามส่วนตัวไปด้วย ในส่วนของระยะเวลาการดำเนินการจะขึ้นอยู่กับสำนักงานเขตในพื้นที่ ที่อาศัยอยู่ หากเป็นพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครจะดำเนินการไวกว่าสำนักงานเขตในต่างจังหวัด

และทั้งหมดนี้คือรายละเอียด และข้อมูลทั้งหมดสำหรับการยื่นขอให้ชาวต่างชาติ หรือสามี-ภรรยามีชื่อในทะเบียนบ้านในประเทศไทย ซึ่งการทำเรื่องไม่ยุ่งยากเลยค่ะ หากคุณเตรียมเอกสาร และปฏิบัติตามขั้นตอนให้ถูกต้องครบถ้วน เพียงเท่านี้คุณ ก็สามารถนำชื่อสามีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน หรือขอทะเบียนบ้านสำหรับสามีชาวต่างชาติได้แล้วค่ะ